ในทางศาสตร์การแพทย์แผนจีน เชื่อว่า ในช่วงมีประจำเดือนของผู้หญิง ลมปราณและเลือด จะพร่องและอ่อนแอ ซึ่งง่ายต่อการรับปัจจัยก่อโรคจากภายนอกทั้ง 6 (ทางศาสตร์แพทย์แผนจีน หมายถึง ลม ความเย็น อบอ้าว ความชื้น ความแห้ง ความร้อน) มากระตุ้น ทำให้เกิดโรคได้ง่าย เนื่องจากสภาพอากาศในปัจจุบัน มีพายุ และเริ่มเข้าสู่ช่วงหน้าหนาว จึงทำให้ปัจจัยก่อโรคภายนอก ทั้งความเย็น และความชื้น จะเข้าสู่ร่างกายของผู้หญิงช่วงมีประจำเดือนได้ง่ายกว่าปกติ ดังนั้นการดูแลตัวเองในช่วงมีประจำเดือนจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก
ขณะมีประจำเดือนควรดูแลร่างกายอย่างไร
– งดกินของประเภทเย็น เช่น ผลไม้ที่มีฤทธิ์เย็น น้ำเย็น อาหารดิบสดที่ก่อให้เกิดความเย็น จะทำให้การมีประจำเดือนนั้นนานขึ้น ประจำเดือนมาน้อย มีสีคล้ำ มีลิ่มเลือด และทำให้ปวดท้องประจำเดือนได้ง่าย
– งดการกินอาหารที่ทำให้ร้อนและมีควันมากจนเกินไป เช่น แอลกอฮอล์ ชา กาแฟ ชาบูหม่าล่า ปิ้งย่างทุกประเภท และอาหารประเภทเค็ม จะทำให้เกิดความร้อนชื้นในระดับเลือด สามารถทำให้มีอาการปวดแสบปากมดลูก ท้องผูก สิวขึ้น ผิวหนังแพ้ง่าย บวมน้ำ เป็นต้น
– ควรทำร่างกายให้อบอุ่นในช่วงมีประจำเดือน ประจำเดือนประเภทลมปราณและเลือดพร่องนั้นจะต้องป้องกันบริเวณท้อง เอว และขาให้อุ่นเสมอ หลีกเลี่ยงการเจอสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เกิดความเย็น เพื่อให้การไหลเวียนเลือดไม่ถูกขัดขวาง มิฉะนั้นจะทำให้เกิดเป็นเลือดคั่งได้ง
– ช่วงมีประจำเดือนควรรับประทานอาหารที่มีรสจืด ทานอาหารประเภทอุ่นหรือร้อน เพื่อให้ลมปราณและเลือดหมุนเวียนได้คล่อง
– ช่วงมีประจำเดือนเน้นควบคุมด้านอารมณ์ ไม่ควรโกรธ หรือหงุดหงิดง่าย เนื่องจากตับในร่างกายเรานั้นทำหน้าที่ในการกระจายเป็นหลัก หากโกรธหรือเครียดมากจนเกินไปจะกระทบการทำงานของตับ การไหลเวียนเลือดลมไม่คงที่ ฮอร์โมนในร่างกายรวน จนทำให้ลมปราณตับอุดกลั้น ส่งผลให้เกิดประจำเดือนมาไม่ปกติหรือไม่มีประจำเดือนได้
หมอจีนมาแนะ! 6 จุด ลดอาการปวดท้องประจำเดือน
1. จุดชี่ไห่(气海穴) อยู่บริเวณใต้สะดือลงมาสองนิ้วมือ
2. จุดกวนหยวน (关元穴) จุดอยู่กึ่งกลางท้องใต้สะดือลงมา 4 นิ้วมือ
3. จุดจู๋ซานหลี่(足三里穴) จุดจะอยู่ใต้สะบ้าหัวเข่าล่างลงไปประมาณ 3 นิ้ว โดยจะอยู่บริเวณข้างกระดูกหน้าแข้งด้านนอก
4. จุดตี้จี (地极穴) อยู่บริเวณใต้กระดูกหัวเข่าด้านใน วัดต่ำจากกระดูกหัวเข่าลงมา 3 นิ้ว
5. จุดซานอินเจียว (三阴交穴) จุดจะอยู่บริเวณขาด้านใน เหนือยอดตาตุ่มขึ้นมา 4 นิ้วมือ ชิดขอบหลังของกระดูกหน้าแข้ง
6. จุดไท่ชง (太冲穴) อยู่บริเวณหลังเท้าตรงแอ่งกระดูกระหว่างนิ้วหัวแม่เท้าและนิ้วชี้
*** แต่ละจุดใช้วิธีการนวดคลึงเบาๆ 1-3 นาที
***การดูแลเหล่านี้เป็นเพียงตัวช่วยในเบื้องต้น ถ้าคนไข้มีอาการมากและยังไม่ดีขึ้น แนะนำให้ปรึกษาคุณหมอ เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและรักษาต่อไปค่ะ