อารมณ์นั้นเป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นในร่างกาย เพื่อตอบสนองต่อสิ่งเร้าจากภายนอก ในสภาวะปกตินั้นจะไม่ทำให้เกิดโรค แต่ถ้าเกิดความผิดปกติทางอารมณ์ คืออารมณ์เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน รุนแรง ติดต่อกันเป็นเวลานานจนร่างกายไม่สามารถปรับตัวได้ ทำให้เกิดความผิดปกติในการไหลเวียนเลือดและลมปราณ และทำให้อวัยวะภายในทำงานผิดปกติจนเกิดความเจ็บป่วยตามมาได้
โดยตามตำราแพทย์จีนกล่าวไว้ว่า เลือดและลมปราณเป็นส่วนประกอบสำคัญของร่างกาย และจำเป็นต่อการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ความผิดปกติทางอารมณ์เกิดจากความผิดปกติของอวัยวะ ความผิดปกติของเลือดและลมปราณจึงเป็นสาเหตุของความผิดปกติทางอารมณ์ ดั่ง คัมภีร์หวงตี้เน่ย์จิง 《黄帝内经》บันทึกไว้ว่า เลือดมากเกินไปก่อให้เกิดอารมณ์โกรธ เลือดพร่องทำให้เกิดอารมณ์กลัว เลือดของหัวใจและตับพร่องทำให้ตกใจ ลมปราณหัวใจพร่องทำให้เศร้า ลมปราณหัวใจสูงเกินไปทำให้เสียสติ หัวเราะร้องไห้ไม่มีสาเหตุ นั่นเอง
ตามศาสตร์แพทย์จีน แบ่งความผิดปกติทางอารมณ์ที่เป็นสาเหตุของโรคมี 7 แบบ
คือ โกรธ ยินดี เศร้าโศก วิตกกังวล ครุ่นคิด หวาดกลัว ตกใจ
ซึ่งการเปลี่ยนแปลงอารมณ์ทั้ง 7 ในภาะปกติ ถือเป็นผลดีต่อสุขภาพของร่างกาย แต่ว่าหากมีการเกิดอารมณ์ทั้ง 7 แบบสุดโต่ง หรือ สะสมอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งเป็นระยะเวลานานผิดปกติ จะทำร้ายเราทำให้เกิดความเจ็บป่วยได้
อารมณ์ทั้ง 7 ตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน สามารถส่งผลต่อร่างกายเราได้ ดังนี้
– ดีใจมากเกินไป อาจส่งผลให้จิตใจไม่อยู่เป็นที่ ใจสั่น กระวนกระวาย อาละวาด
– ตกใจเกินไป อาจส่งผลให้ใจสั่น กระวนกระวาย นอนไม่หลับ หายใจขัด
– เศร้ามากเกินไป อาจส่งผลให้มีอาการแน่นหน้าอก หายใจขัด เซื่องซึม ไม่มีแรง
– กังวลมากเกินไป อาจส่งผลให้มีอาการหายใจเบา พูดเสียงต่ำ ไอ แน่นหน้าอก
– โกรธมากเกินไป อาจส่งผลให้มีอาการเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ หน้าแดง หูมีเสียงดัง
– ครุ่นคิดมากเกินไป อาจส่งผลให้มีอาการมีอาการเบื่ออาหาร ท้องอืด แน่นท้อง ท้องเดิน
– กลัวมากเกินไป ส่งผลให้มีอาการกลั้นอุจจาระปัสสาวะไม่ได้ ฝันเปียก แขนขาไม่มีแรง ปวดเอว
ฉะนั้นการดูแลอารมณ์ทั้ง 7 ตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน ให้สมดุล ถือเป็นเรื่องสำคัญนะคะ