“หลังค่อม ไหล่ห่อ คอยื่น” …กับการรักษาด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน

 

“ หลังค่อม ไหล่ห่อ คอยื่น ” หรือที่เรียกกันว่า Upper Crossed Syndrome (UCS) คือภาวะที่กล้ามเนื้อบริเวณคอ บ่า ไหล่ และอก ทำงานหนักอย่างไม่สมดุลกัน โดยมีกล้ามเนื้อส่วนที่หดตัว และอ่อนล้า ครอสกันเป็นรูปกากบาท (X) โดยแบ่งได้เป็นดังนี้

 

  • กล้ามเนื้อส่วนที่หดตัว (Tightness) : กล้ามเนื้อคอ บ่าส่วนบน และกล้ามเนื้ออก
  • กล้ามเนื้อส่วนที่อ่อนแรง (Weakness) : กล้ามเนื้อช่วงสะบัก บ่าส่วนกลางและล่าง รวมถึงกล้ามเนื้ออกด้านข้าง

 

โดยสาเหตุของการเกิด “ หลังค่อม ไหล่ห่อ คอยื่น ” หรือ Upper Crossed Syndrome นั้น อาจเกิดจาก

การอยู่ในอิริยาบถที่ไม่ถูกต้องเป็นเวลานาน เกิดอาการเกร็งโดยไม่รู้ตัว ส่งผลให้กล้ามเนื้อทำงานหนักและทำงานไม่สมดุลกัน มักเกิดจากการทำกิจกรรมเหล่านี้เป็นเวลานาน ๆ

  • นั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์
  • ก้มเล่นสมาร์ทโฟน
  • อ่านหนังสือ
  • ขับรถ หรือ ปั่นจักรยาน

 

 

ในทางการแพทย์แผนจีน “ หลังค่อม ไหล่ห่อ คอยื่น ” หรือ Upper Crossed Syndrome จัดอยู่ในกลุ่มของ อาการกล้ามเนื้อ ( 筋病 ) ซึ่งจะเกิดการใช้พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเป็นหลัก โดยการรักษาจะเน้นการรักษาที่กล้ามเนื้อเป็นหลัก ร่วมกับการแมะชีพจรเพื่อประกอบการรักษาร่วมด้วย โดยเบื้องต้นจะใช้การฝังเข็มร่วมกับการใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า เพื่อรักษาในกรณีที่กล้ามเนื้อบริเวณนั้นอ่อนแรง การฝังเข็มร่วมกับการใช้โคมร้อน หรือใช้การครอบแก้ว เพื่อรักษาในกรณีที่กล้ามเนื้อในบริเวณนั้นตึงตัวมากเกินไป

 

 

หมอจีนมาแนะ!7 จุด แก้อาการปวดคอ บ่า ไหล่ ในเบื้องต้น

1. จุดเฟิงฉือ (风池穴อยู่บริเวณใต้ฐานกะโหลกศีรษะ โดยใช้ปลายนิ้วลากจากติ่งหูไปที่แอ่งใต้ฐานกะโหลกศีรษะ

2. จุดเจียนจิ่ง (肩井穴กึ่งกลางบ่า ระหว่างกระดูกต้นคอถึงหัวไหล่

3. จุดเทียนเหลียว (天髎) อยู่บริเวณรอยบุ๋มตำแหน่งมุมบนสุดของกระดูกสะบัก

4. จุดเจียนเหลียว(肩髎穴) อยู่บริเวณรอยบุ๋มหลังของหัวไหล่ ขณะกางแขนออกด้านข้าง

5. จุดเทียนจง (天宗อยู่บริเวณบริเวณแอ่งสะบักล่าง ตรงจุดแบ่งระหว่าง 1/3 บนกับ 2/3 ของกลางสะบัก

6. จุดเยาท้งเตี่ยน (腰痛点) อยู่บริเวณหลังมือ รอยบุ๋มระหว่างนิ้วชี้กับนิ้วกลาง และระหว่างนิ้วนางกับนิ้วก้อย

7. จุดโฮ่วซี (后溪) กำมือหลวมๆ จุดอยู่บริเวณด้านข้างของฝ่ามือ ปลายรอยย่นตรงข้อต่อของนิ้วก้อย

 

*** แต่ละจุดใช้วิธีการนวดคลึงเบาๆ 1-3 นาที

***การดูแลเหล่านี้เป็นเพียงตัวช่วยในเบื้องต้น ถ้าคนไข้มีอาการมากและยังไม่ดีขึ้น แนะนำให้ปรึกษาคุณหมอ เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและรักษาต่อไปค่ะ

Share article :

บทความอื่น ๆ