ท้องผูก (便秘) เป็นอาการที่อุจจาระแข็ง ถ่ายออกยาก ต้องใช้เวลาในการขับถ่ายอุจจาระนาน หรือแม้จะใช้เวลาไม่นานหากขับถ่ายยากก็นับเป็นอาการท้องผูกด้วย กลไกของโรคทางแพทย์แผนจีนเกี่ยวข้องกับภาวะร้อนคั่งในกระเพาะอาหารและลำไส้ หรือมีภาวะหยางพร่องทำให้อุจจาระแข็งตัวจากความเย็น ชี่ เลือด และอินพร่อง หรือมีก้อนในช่องท้องกดทับลำไส้
วิธีการดูแลเบื้องต้นแก้อาการท้องผูก ตามแบบแพทย์แผนจีน
– ควรกินผัก ผลไม้ อาหารมีกาก กินน้ำให้มากพอ งดกินของเผ็ดจัด งดกินเหล้าหรือสูบบุหรี่
– หลีกเลี่ยงการนั่งนานเกินไป หมั่นออกกำลังกาย หรือเดินเพื่อให้มีการเคลื่อนไหวของลำไส้
– ฝึกการถ่ายอุจจาระให้เป็นเวลาทุกวัน ทางที่ดีควรเป็นตอนเช้า
– ควบคุมอารมณ์ให้สงบ ไม่หงุดหงิดง่าย
– ไม่ควรใช้ยาระบายต่อเนื่องนานๆ เพราะจะทำให้เสียสารน้ำและพลังของร่างกายโดยไม่จำเป็น จะทำให้ท้องผูกมากขึ้นอีกด้วย
– คนสูงอายุ คนที่มีร่างกายอ่อนแอ คนที่เลือดพร่อง พลังพร่อง ต้องให้การบำรุงเสริมร่างกายเป็นหลัก ร่วมกับการใช้ยาระบายเสริมและต้องระวังให้ใช้ส้วมแบบนั่งได้ เพราะผู้ป่วยมักจะไม่ค่อยมีแรงเบ่ง จะทำให้เป็นลมหรือมีอุบัติเหตุในห้องน้ำได้ง่าย
อาหารที่ช่วยลดอาการท้องผูกแบบฉบับแพทย์จีน
ผักโขม
ช่วยรักษาอาการท้องผูก เนื่องจากผักโขมมีใยอาหารและเป็นอาหารที่มีเส้นใยหยาบซึ่งเอื้อต่อการฟื้นตัวของอาการท้องผูก และยังสามารถเพิ่มการบีบตัวของลำไส้ซึ่งทำหน้าที่เป็นยาระบาย นอกจากนี้ยังสามารถส่งเสริมการหลั่งของตับอ่อนและช่วยในการย่อยอาหารได้อีกด้วย
น้ำผึ้ง
น้ำผึ้งประกอบด้วยฟรุกโตสและเอ็นไซม์ย่อยอาหารจำนวนมาก ซึ่งเมื่อเข้าสู่ทางเดินอาหารแล้ว จะสามารถส่งเสริมการหมักและการย่อยอาหาร มีฤทธิ์เป็นยาระบาย และยังช่วยเร่งการบีบตัวของลำไส้ บรรเทาอาการท้องผูก
กล้วย
มีผลทำให้ปอดชุ่มชื้น บรรเทาอาการไอ และทำให้ลำไส้ชุ่มชื้น หากเป็นอาการท้องผูกที่เกิดจากอุจจาระแห้งหรือความร้อนในลำไส้ กล้วยมีเส้นใยที่ละลายน้ำได้และเพคติน ซึ่งสามารถควบคุมการทำงานของระบบทางเดินอาหาร การกินกล้วยจึงสามารถช่วยบรรเทาอาการบางอย่างได้ แต่!!! การกินกล้วยต้องระวัง โดยเฉพาะกล้วยสุกเท่านั้นที่รักษาอาการท้องผูกได้ กล้วยดิบจะมีกรดแทนนิกมาก ส่วนผสมนี้จะไปยับยั้งการหลั่งน้ำย่อยในทางเดินอาหาร และอาจยับยั้งการบีบตัวของลำไส้และทำให้ท้องผูกได้และอาการแย่ลงอีกด้วย
มะเขือเทศ
มะเขือเทศอุดมไปด้วยวิตามินและเซลลูโลส ซึ่งสามารถส่งเสริมการเคลื่อนตัวของทางเดินอาหาร และบรรเทาอาการท้องผูกได้
หน่อไม้
หน่อไม้มีเส้นใยพืชสูง ซึ่งสามารถเพิ่มความจุของน้ำในลำไส้ ส่งเสริมการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร ลดความดันในลำไส้ ลดความหนืดของอุจจาระ ทำให้อุจจาระนิ่มและขับออกได้ง่าย ใช้ในการรักษาอาการท้องผูกและป้องกันมะเร็งลำไส้
หมอจีนมาแนะ! 5 จุด แก้ท้องผูก
1.จุดเทียนซู(天枢穴) อยู่ระดับเดียวกับสะดืออยู่ห่างจากสะดือในแนวราบประมาณ 3 นิ้วมือ
2.จุดจือโกว (支沟穴) อยู่เหนือหลังข้อมือทั้งด้านซ้ายและขวาประมาณ 4 นิ้วมือ
3.จุดชี่ไห่(气海穴) อยู่บริเวณใต้สะดือลงมาสองนิ้วมือ
4.จุดจู๋ซานหลี่(足三里穴) จุดจะอยู่ใต้สะบ้าหัวเข่าล่างลงไปประมาณ 3 นิ้ว โดยจะอยู่บริเวณข้างกระดูกหน้าแข้งด้านนอก
5.จุดเหอกู่ (合谷穴) อยู่บริเวณหน้าท้อง อยู่เหนือสะดือ 5 นิ้วมือ และห่างออกไปด้านข้างตามแนวระนาบ 3 นิ้วมือ
*** แต่ละจุดใช้วิธีการนวดคลึงเบาๆ 1-3 นาที
***การดูแลเหล่านี้เป็นเพียงตัวช่วยในเบื้องต้น ถ้าคนไข้มีอาการมากและยังไม่ดีขึ้น แนะนำให้ปรึกษาคุณหมอ เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและรักษาต่อไปค่ะ