เสียงแหบ (Hoarseness) คือ ภาวะที่มีเสียงเปลี่ยนผิดปกติไปจากเดิม เช่น เสียงเบาลง เสียงหยาบ เสียงเค้น เสียงสูงหรือต่ำกว่าปกติ ไม่มีเสียง เสียงขาดหาย เป็นช่วงๆ หรือ อาการที่เสียงเกิดความเปลี่ยนแปลงหรือมีความผิดปกติ มีระดับสูง-ต่ำหรือความดังของเสียงที่เปลี่ยนแปลงไป มีเสียงหายใจแทรก หรือต้องออกแรงในการเปล่งเสียง ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ มักเกิดจากความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับเส้นเสียงในกล่องเสียง (Larynx)
ในทางการแพทย์แผนจีนเรียก อาการเสียงแหบว่า ” 喉瘖 “ โดยจะจำแนกสาเหตุและอาการออกเป็นกลุ่มอาการแกร่งและพร่อง ซึ่งสาเหตุกลุ่มอาการแกร่งนั้นเกิดจาก ลมหรือความร้อนภายนอกกระทบปอด เลือดคั่งหรือเสมหะคั่งค้างภายในปอด ทำให้ชี่ปอดไม่กระจายซึ่งพบในระยะแรกของโรคเสียงแหบหรือเสียงหาย โดยทางแพทย์แผนจีนเรียกว่า “ปอดแกร่งเสียงหาย (金实不鸣)” ส่วนสาเหตุของกลุ่มอาการพร่องนั้น เกิดจาก อวัยวะภายในอ่อนแอ ปอดและไตขาดการหล่อเลี้ยงจะพบมากในผู้ที่เจ็บป่วยเรื้อรัง โดยทางแพทย์แผนจีน เรียกกลุ่มอาการพร่องนี้ว่า “ปอดพร่องเสียงหาย (金破不鸣)”
ซึ่งในทางการแพทย์แผนจีน จำแนกสาเหตุการเกิดหลักๆ ได้ดังนี้
- ลมหนาวกระทบปอด (风寒袭肺) : ลมหนาวภายนอกกระทบปอด ทำให้ชี่ของปอดไหลเวียนได้ไม่สะดวก อีกทั้งลมหนาวไปอุดกลั้นกล่องเสียง ทำให้เสียงไม่สามารถเปล่งออกมาได้ จึงเกิดอาการเสียงแหบ
- ลมร้อนกระทบปอด (风热犯肺) : ลมร้อนภายนอกกระทบปอด ทำให้ชี่ของปอดลำเลียงหรือไหลเวียนได้ไม่สะดวก เกิดลมร้อนไหลเวียนขึ้นไปกระทบกล่องเสียง ทำให้ไม่สามารถเปล่งเสียงออกมาได้
- ความร้อนอุดกลั้นปอด (肺热壅盛) : เมื่อความร้อนภายในปอดสะสมมากเกินไป สารน้ำถูกเผาไหม้จนกลายเป็นเสมหะ เสมหะร้อนไปอุดกลั้นปอด ทำให้การทำงานของปอดไม่สมดุล จนทำให้กล่องเสียงเปิดปิดได้ไม่สมดุลเช่นกัน จึงเกิดอาการเสียงหายได้
- ยินปอดและไตพร่อง (肺肾阴虚) : เมื่อมีการขาดยินในร่างกาย หรือร่างกายเกิดอาการเจ็บป่วยเป็นระยะเวลายาวนาน ทำให้ยินของปอดและไตพร่อง ไฟร้อนอักเสบขึ้นด้านบนไปกระทบกล่องเสียง ทำให้การทำงานของกล่องเสียงมีปัญหา ไม่สามารถเปล่งเสียงออกมาได้
- ชี่ปอดและม้ามพร่อง (肺脾气虚) : เมื่อร่างกายขาดชี่ ร่างกายเกิดความเหนื่อยล้ามากเกินไป มีอาการเป็บป่วยเป็นเวลานาน หรือการที่ใช้เสียงมากเกินไป ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดการใช้ชี่ในร่างกายมากจนเกินไป จนเป็นเหตุทำให้ชี่ของปอดและม้ามพร่องตามไปด้วย จนไม่สามารถขยายกล่องเสียงหรือกล่องเสียงทำงานไม่ปกติ จนทำให้เกิดอาการเสียงหาย
- เลือดและเสมหะคั่งค้าง (血瘀痰凝) : การที่ใช้เสียงมากจนเกินไป จนไปทำลายชี่และยิน อีกทั้งทำให้หลอดเลือดดำในลำคอถูกปิดกลั้นและชี่ในร่างกายเกิดการติดขัดไม่ไหลเวียน ส่งผลให้เลือดและเสมหะคั่งค้างในร่างกายตามไปด้วย จนทำให้เส้นเสียงเกิดอาการบวมหรือเกิดก้อน ซึ่งจะไปขัดขวางการทำงานในการเปิดปิดของกล่องเสียงได้
โดยการรักษาทางศาสตร์การแพทย์แผนจีน จะเน้นการบำรุงปอด ม้าม ไต ชี่และเลือด และการช่วยให้การเปิดปิดของกล่องเสียงทำงานได้เป็นปกติ